‘Never Was Normal’ ศิลปะงานไม้ เมื่อสิ่งที่คิดว่าปกติคือความไม่ปกติตั้งแต่แรก

Never Was Normal จัดแสดงผลงานของกลุ่มศิลปินช่างไม้ Grains & Grams ที่สะท้อนถึงมุมมองเรื่องความปกติ ความไม่ปกติ และช่วงเวลารักษาระยะห่างผ่านงานไม้

‘ความไม่ปกติ’ ที่กลายมาเป็น ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) เป็นคำที่คุ้นหูที่เกิดขึ้นในสภาวะสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความปกติใหม่กลายมาเป็นเสมือนข้อตกลงในสังคมที่เราทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ก้าวข้ามสภาวะนี้ไปให้ได้ ในแง่หนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดในสภาวะไม่แน่นอนที่เป็นอยู่ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนอีกกลุ่มที่สูญเสียแทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีและต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่

ไม่เคยที่จะปกติ

‘Grains & Grams’ เป็นการรวมตัวกันของศิลปินและนักสร้างสรรค์ผลงาน 8 ท่านซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือความสนใจในงานไม้ ร่วมจัดนิทรรศการ ‘Never Was Normal’ เพื่อบอกเล่าถึงมุมมอง ประสบการณ์ และความรู้สึกของแต่ละคนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเราต้องห่างออกจากสภาวะปกติที่เราเคยคุ้นชิน สภาวะที่เรียกว่าความปกติในนิยามของปัจเจก ในนิยามของการดำเนินชีวิตและสิ่งที่ทำให้เราคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัย

คุณเฉย ภาคภูมิ (นานุ) ยุทธนานุกร หนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้เล่าว่า ‘ก่อนหน้านี้พวกเรารวมตัวกันมาสักพักหนึ่งแล้วประมาณ 3-4 ปี โดยตั้งใจกันว่าอยากจะทำงานนิทรรศการกันสักปีละครั้ง พอมาบรรจบกับช่วงวิกฤติโควิด-19 พอดี เลยคิดธีมที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงได้คำว่าความปกติใหม่ (New Normal) แต่ในที่สุดก็มาตกที่คำว่าไม่เคยที่จะปกติ (Never Was Normal) ซึ่งพวกเรามองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เราออกจากภาวะปกติที่แต่ละคนคุ้นชิน ได้อยู่บ้านกับลูก ได้อยู่กับธรรมชาติ ทำงานน้อยลง มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ซ่อมแซมบ้าน ซึ่งขณะเดียวกันมันก็มีผลเสียเช่น บางคนอาจจะตกงาน สูญเสียรายได้ แต่คำถามคือ สิ่งที่เรามองว่ามันเป็นปกติมันปกติจริงหรือเปล่า เช่น การที่มนุษย์อยู่แบบห่างไกลจากธรรมชาติมันเป็นสิ่งปกติหรือเปล่า? การที่คนทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่มีเวลาให้ลูกให้ครอบครัว เราเรียกสิ่งนี้ว่าปกติหรือเปล่า?’

แฟชั่น

‘นอกจากนี้ทุกครั้งที่ผมเสนองาน ผมจะติดรูปเล็กๆ รูปหนึ่งไปด้วย เป็นรูปจากการชุมนุมที่ฮ่องกงเมื่อต้นปี 2020 ผู้ประท้วงเขียนบนผนังด้วยข้อความภาษาจีนว่า ‘เรากลับไปสู่ปกติไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าปกตินั่นแหละคือปัญหา’ แต่อีกมุมถ้ามองแบบขำๆ ก็คืองานพวกเราไม่ปกติกันอยู่แล้ว เพราะแต่ละคนมีทางของตัวเองที่ชัดเจนจึงเป็นที่มาของชื่อ Never Was Normal’

นิทรรศการต้องการสะท้อนถึงสภาวะปัจจุบันต่างๆ ที่ต้องพบเจอไม่ว่าจะเป็นการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม สิ่งที่เราไม่รู้ไม่อาจจะคาดเดา ซึ่งนำมาสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อตัวเราเองและคนที่เรารัก ความรู้สึกหม่นหมองและอึดอัด จนไปถึงการค่อยๆ เรียนรู้ที่จะหาสมดุลเพื่อใช้ชีวิตร่วมอยู่กับสภาวะเหล่านี้

หากคุณเป็นคนที่ชอบงานไม้ งานครั้งนี้ย่อมตอบโจทย์ในด้านการออกแบบรวมถึงเทคนิคเฉพาะสำหรับงานไม้แต่ละแบบ แต่หากคุณต้องการดูงานไม้เพื่อหาความหมายทางศิลปะ งานครั้งนี้ก็มีความหมายแฝงที่น่าสนใจ เช่น งานที่ชื่อว่า ‘FORBIDDEN LOVE IN A STATE OF EMERGENCY’ หรือ ‘รักต้องห้ามสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ผลงานของ ‘รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ’ ที่ล้อกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเล่าถึงรักสามเส้าซึ่งมีทหารอยู่ตรงกลางไม่ให้ประชาชนนั่งใกล้ประชาธิปไตย

หรือผลงานที่ชื่อว่า ‘THE GATE’ งานของ ‘ภาคภูมิ (นานุ) ยุทธนานุกร’ ที่นำรูปแบบของการตัดไม้ใหญ่เป็นแนวเฉียงมาต่อเป็นประตูไฟที่สื่อถึงการก้าวผ่านอะไรบางอย่าง การก้าวผ่านจากสิ่งที่เรารู้กับสิ่งที่เราไม่รู้ ในภาวะเช่นนี้ บางคนอาจกำลังมองเห็นประตูที่เหมือนไฟซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญเพื่อจะผ่านไปให้ได้ ศิลปินจึงอยากจะสื่อสารผ่านงานชิ้นนี้ว่าเป็นประตูที่จะต้องรวบรวมความกล้าหาญเพื่อผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ไปให้ได้

‘ประตูตั้งอยู่ระหว่างตรงนี้ และตรงนั้น ทับขอบเขตระหว่างสิ่งที่รู้ และสิ่งที่ไม่รู้ ประตูคือที่ของการเปลี่ยนแปลง จากสภาวะนึง ไปสู่อีกสภาวะนึง ความกล้าหาญนั้นจำเป็น หากประสงค์จะก้าวไปหาสิ่งที่ตนไม่รู้’

‘ความปกติเก่าที่เรา(คิดว่า)เคยมีคืออะไร และ ความปกติใหม่ที่หลายคนพร่ำบอกจะกลายเป็นจริงได้แค่ไหนคงไม่มีใครรู้ เวลาจะเดินหน้าตามเข็มนาฬิกา การเดินทางต่อไปข้างหน้าเราต้องห้ามหันหลังมามองอดีตเป็นสิ่งที่สังคมมักคอยบอกเราอยู่เสมอ ปัจจุบัน และ อนาคต คงจะไม่มีตัวตนหากไม่มีอดีต หากลองมองการเคลื่อนที่แบบทวนเข็มเป็นการย้อนทบทวนและเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการเดินไปข้างหน้าได้ก็คงจะดี’

งานที่มีชื่อว่า ‘CLOCKWISE, COUNTERCLOCKWISE’ เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา สะท้อนภาวะคนที่กำลังจดจ้องกับเวลาเพื่อผ่านสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เล่นกับการตัดไม้แผ่นหนาให้เป็นแผ่นที่บางลงและการคำนวณ การถ่วงน้ำหนักระหว่างกัน ผู้สร้างผลงานอยากเชิญชวนให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ลองมีปฏิสัมพันธ์กับผลงาน ลองหยุดแล้วเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของชิ้นงาน คล้ายเวลาเราเฝ้ามองเข็มนาฬิกาที่เคลื่อนผ่าน เวลากำลังเดินไปข้างหน้า ในขณะที่สิ่งที่เรากำลังเรียกหาอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เวลากำลังเดินไปข้างหน้าแต่สิ่งที่เราเรียกหาอาจจะไม่เคยมีอยู่จริง แล้วอยากชวนให้ลองตั้งคำถามว่า ‘ความปกติ’ แท้จริงแล้วมันคืออะไร

ส่วนงานที่ชื่อว่า ‘เตาไฟ’ เป็นผลงานของศิลปินจากบุรีรัมย์ที่นำวิถีชีวิตในวันปกติมาจัดแสดงผ่านหินภูเขาไฟ 3 ก้อนที่มีลักษณะคล้ายกองไฟ ซึ่งการมองไปที่กองเพลิงหรือกองไฟในบางครั้งมันสะท้อน ‘ภาวะสิ้นคิด’ หรือการหลุดไปจากความคิดของตัวเอง ให้เราได้หยุดนั่งลงอยู่กับสิ่งตรงหน้า ทบทวนตรวจสอบขอบเขตของชีวิตให้เรื่องราวคลี่คลายดำเนินไปและเห็นสิ่งต่างๆ ตรงตามความเป็นจริง

ผลงาน ‘เตาไฟ’

ทางผู้จัดงานอยากเชิญชวนผู้เข้าชมนิทรรศการ ลองเข้าสู่สภาวะแห่งความสงบนิ่ง ลองสำรวจถึงมุมมอง ความรู้สึก และวิถีของความเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำมาสู่การก้าวต่อไปข้างหน้าที่ยังคงมีพื้นที่ของความเอื้ออารีย์ ความสามารถที่จะตระหนักถึงสภาวะ และความรู้สึกของผู้อื่นที่อยู่ร่วมเผชิญกับสภาวะเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันได้ นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 4 – 27 กันยายน 2563 (โดยในวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายนนี้จะมีงานเสวนาและเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้พูดคุยกับศิลปิน) เวลา 11.00 – 19.00 น. สถานที่ The Shophouse 1527 ถ.พระราม 4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ